ขอนแก่น-เปลี่ยนกิจวัตรประจำวันมาเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้

Social Share

ผู้ประกอบการภาคอีสานเริ่มต้นจากความชื่นชอบในการทำอาหารและเล็งเห็นความสำคัญของวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน ก่อนจะนำมาทดลอง พัฒนาและต่อยอดจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์และสินค้าชั้นนำของจังหวัด สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและคนในชุมชน

Social Share

ที่โรงแรมบายาสิตา มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่น กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการจัดกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการออกแบบและนวัตกรรม เพื่อยกระดับมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์นวัตกรรม BCG ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รุ่นที่ 2  ภายใต้แนวคิด “E-SAN BCG Potential development of substitute products” โดยมีนายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธี และภายในงานมีผู้เข้าร่วมการอบรมกว่า 120 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนบน  ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม และจังหวัดมุกดาหาร ที่จะเข้าร่วมอบรม แลกเปลี่ยนความรู้ และรับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จะยกระดับขีดความสามารถของตนเองให้มีการพัฒนาศักยภาพของผลิตภัณฑ์สินค้านวัตกรรม BCG ให้มีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลได้

นายเกรียงศักดิ์ พันเดช เจ้าของแบรนด์ EASY FOOD กล่าวว่า สถานที่ตั้งของแบรนด์ฯ อยู่ที่ จ.สกลนคร ซึ่งการทำผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหารสำเร็จรูปมีจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อครั้งที่ตนเองเป็นพ่อบ้านที่ต้องทำอาหารให้ลูก ๆ และคนในครอบครัวรับประทาน ซึ่งเวลาที่จะทำอาหารแต่ละเมนูก็จะต้องไปหาซื้อวัตถุดิบและเครื่องปรุงมากมาย ทำให้เสียเวลาไปมาก ยิ่งปัจจุบันที่สังคมไทยเป็นสังคมเร่งรีบ เวลามีน้อยลง จนวันหนึ่งที่ขับรถส่งลูกไปโรงเรียนได้สังเกตเห็นร้านขายหมูปิ้งหน้าปากซอยที่ตนเองแวะซื้อให้ลูกทานไปบนรถที่ไม่ว่าจะซื้อกินวันไหนรสชาติก็ยังเหมือนเดิม จึงคิดว่าทางร้านน่าจะมีสูตรในการปรุงที่เป็นสูตรเฉพาะ จึงสอบถามกับทางร้านว่ามีสูตรในการปรุงอย่างไรให้ได้รสชาติที่เหมือนเดิม จนกระทั้งได้สูตรการปรุงมาคร่าว ๆ จากนั้นตนเองจึงมาทดลองแยกสูตรการหมักดูว่า ในความอร่อยของหมูปิ้ง 1 ไม้ มีรสชาติที่เกิดจากวัตถุดิบใดบ้าง มีการทดลองระยะเวลาในการหมักว่า ใช้เวลาเท่าใดถึงจะได้ความนุ่มของหมูที่ต้องการ กระทั้งได้สิ่งที่เรียกว่า “เบสซอส” หรือ ซอสที่เป็นรสชาติพื้นที่ จากนั้นจึงนำไปต่อยอดเป็นซอส ผงปรุงรส และผงหมักอาหารชนิดต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังพัฒนาผงปรุงอาหาร ผงหมักอาหารให้ครอบคลุมเมนูอาหารของภาคเหนือและภาคใต้ หลังจากที่ได้ผลิตผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสของภาคอีสานและภาคกลางครอบคลุมแล้วทุกเมนู

การตัดสินใจเข้าร่วมอบรมในโครงการฯ ครั้งนี้ เนื่องจากมีผู้ประกอบจากทุกจังหวัดในภาคอีสานมาเข้าร่วม ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละคนที่มาเข้าร่วมอบรมก็จะมีสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทำให้เราได้รู้จักพันธมิตรหรือเครือข่ายเพิ่มขึ้น สามารถกระจายสินค้าไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น หรือแม้กระทั้งเกิดการจับคู่การค้าทางธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบการรายหนึ่งกำลังทำขนมขบเคี้ยว หากต้องการสินค้าของเราไปจำหน่ายเพิ่มเติมก็สามารถจับคู่ทางธุรกิจกันได้ ที่สำคัญการจัดการอบรมของกระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่น ที่มุ่งเน้นกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการออกแบบและนวัตกรรมเพื่อยกระดับมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์นวัตกรรม BCG ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอบโจทก์เป็นอย่างมาก เพราะผลิตภัณฑ์ที่ตนเองทำอยู่ก็ใช้วัตถุดิบที่เป็นพืชสมุนไพรที่ปลูกในบ้านเราอยู่แล้ว เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ฯลฯ ก็ทำให้เราได้มาเรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำอยู่ให้ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชผักที่นำมาจำหน่ายให้กับเราได้อีกด้วย

ด้าน น.ส.พัทรนรินทร์ ทองคำ เจ้าของแบรนด์ คุณแม่ทองคำ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่แบรนด์ คุณแม่ทองคำ มีสถานที่ตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งจะผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องเทศ เช่น น้ำพริกเผา น้ำพริกแบบแห้ง หอม-กระเทียมเจียว โดยวัตถุดิบที่นำมาใช้ก็มาจากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกเป็นอาชีพอยู่แล้ว จึงมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะนำมาต่อยอดและพัฒนาโดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน ประกอบกับในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ที่เกษตรกรต่างได้รับผลกระทบ เราจึงเข้ามาช่วยเหลือและร่วมมือกันกับเกษตรกรในพื้นที่ จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากชุมชนอย่างแท้จริง และการเข้ามาอบรมในโครงการฯ นี้ เนื่องจากเรามองว่า ต่อให้สินค้าเราดีขนาดไหน แต่หากเราไม่มีพันธมิตร ไม่มีเครือข่าย วันหนึ่งสินค้าเราก็ตัน หรือ มีสามารถขยายตลาดให้กว้างขึ้นได้ แต่หากเรามีเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสานด้วยกันที่เป็นผู้ประกอบการที่มีความหลากหลาย ก็จะยิ่งสามารถขยายฐานการตลาดในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เราทำอยู่ รวมทั้งแนะนำสินค้าของเครือข่ายที่เราการันตีว่ามีคุณภาพ ให้กับลูกค้าที่สนใจและต้องการได้อีกด้วย และยิ่งการอบรมในครั้งนี้ที่เน้นเรื่อง BCG ก็ยิ่งตอบโจทก์กับผลิตภัณฑ์ที่เราทำอยู่โดยตรง ช่วยทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีเครือข่ายที่มองในมุมเดียวกัน และที่สำคัญคือสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับชุมชนที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบให้กับเราได้อีกด้วย

About Author