สช. ดันร่างแก้ปัญหา PM 2.5 เน้นป้องกันลดต้นเหตุ บริหารพื้นที่ พัฒนาด้านวิชาการ

Social Share

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า เรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นปัญหาสุขภาพและเศรษฐกิจของคนในประเทศและภูมิภาค สช. จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมควบคุมมลพิษ ในการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

Social Share
วันที่ 20 ก.ย. 2564 นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า เรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นปัญหาสุขภาพและเศรษฐกิจของคนในประเทศและภูมิภาค สช. จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมควบคุมมลพิษ ในการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้มีข้อเสนอจากการหารือกันหลายเวทีกว่า 7 เวที ตั้งแต่ปี 2563 วันนี้จึงเป็นการหาฉันทมติและสรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาเพื่อการขับเคลื่อนระบบต่อไป
นายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและประธานที่ประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองแขวนลอยขนาดเล็กในอากาศ ผ่านการกรองของจมูก เข้าระบบทางเดินหายใจ ส่งผลกระทบต่อการหายใจ หัวใจ และหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 5 ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจสังคม ท่องเที่ยวและสันทนาการ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของประเทศ ทั้งนี้ฝุ่นเกิดมาจากหลายแหล่ง แหล่งสำคัญคือโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรม ไอเสียยานพาหนะ การเผาที่โล่งแจ้ง เตาปิ้งย่าง เผาขยะ หมอกควันข้ามแดน เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันของเครือข่ายสมัชชามาระยะหนึ่งมีข้อสรุปร่วมกันเพื่อจัดทำเป็นร่างนโยบาย นำไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะการเสริมสร้างภาคีเครือข่ายทางสังคม และนำเข้าสู่การหารือเพื่อพิจารณาร่วมกันในการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยเรื่องการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ

“สุดท้ายจากการหารือร่วมกัน ได้มีมติร่วมกันในการรับรองร่างข้อเสนอนโยบายสาธารณะ ว่าด้วย การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นไปโดยกระบวนการสมัชชา และเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 โดยมุ่งสร้างพื้นที่กลางของทุกภาคส่วนในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมและขับเคลื่อนการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศในทุกมิติ ครอบคลุมประเด็นด้านกฎหมาย และนโยบาย ด้านการจัดการป้องกันและลดปัญหาจากต้นเหตุที่สำคัญ ด้านการขับเคลื่อน บริหารจัดการเชิงพื้นที่ และชุมชนเป็นพื้นฐาน ด้านวิชาการพัฒนาองค์ความรู้ ข้อมูลและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยตกลงร่วมหรือพันธะสัญญานี้ใช้เป็นแนวทางร่วมกันดำเนินการ และติดตามอย่างต่อเนื่องของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทุกภาคส่วน” นายชาญเชาว์ กล่าว

นายชาติวุฒิ  วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่ามติที่ออกมาวันนี้ ทั้งกฎหมาย นโยบาย การจัดการป้องกัน และแก้ไข การขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ ในการจัดการปัญหาของตัวเอง และงานวิชาการ เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่เป็นกรอบในการดำเนินการของภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาคนโยบายและภาควิชาการ มีพื้นที่ตรงกลางที่ทุกภาคส่วนเต็มใจ และมีส่วนร่วม ที่สำคัญคือการได้เห็นคนทุกเจนเนอเรชั่นมาร่วมกันขับเคลื่อน ถือเป็นความท้าทายของประเทศมาก เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะต้องขับเคลื่อนและร่วมมือกับเยาวชน คนรุ่นใหม่ รุ่นพี่ เพื่อเรียนรู้งานไปด้วยกัน  สอดคล้องกับการทำงานของ สสส. ปี 2565 – 2574 ที่เน้นขับเคลื่อนการแก้ปัญหามลพิษจากสิ่งแวดล้อม ทั้งทางอากาศ ขยะ และจากอุตสาหกรรมดังนั้นครั้งนี้คิดว่าการขยับเป็นไปในทิศทางที่ภาคส่วนมีส่วนร่วมนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ทดแทนการบ่นทางโซเชียลมีเดียที่ไม่ได้นำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

ขอบคุณภาพ – ข่าว : WORKPOINT TODAY
https://workpointtoday.com

About Author