ชป.6 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก
3 years agoนายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า ตามที่กรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่งเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศ ฉบับที่ 9/2564 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นตลิ่ง และอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 8 – 11 กันยายน 2564 นี้ และกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศ ฉบับที่ 1 (125/2564) เรื่องพายุโซนร้อน “โกนเซิน” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย แต่ก็ให้เฝ้าระวังอิทธิพลพายุโซนร้อนโกนเซิน นั้น
สถานการณ์น้ำภาพรวมในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 6 ทั้ง 5 จังหวัด อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง ความจุรวม 4,575 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกัก 1,486 ล้าน ลบ.ม. (32%) สามารถรับน้ำได้อีก 3,089 ล้าน ลบ.ม. (68%) อ่างฯขนาดกลาง 69 แห่ง ความจุรวม 440 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกัก 207 ล้าน ลบ.ม. (47%) ยังสามารถรับน้ำได้อีก 233 ล้าน ลบ.ม. (53%) อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 1,037 แห่ง ความจุรวม 308 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกัก 135 ล้าน ลบ.ม. (44%) ยังสามารถรับน้ำได้อีก 173 ล้าน ลบ.ม. (56%) รวมพื้นที่ว่างที่ยังสามารถรับน้ำได้อีก 3,496 ล้านลบ.ม. (66%) แม่น้ำชีตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ยังอยู่ใสถานการณ์ปกติ
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ดำเนินการตามมาตรการของกรมชลประทานด้วยการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและติดตั้งธงญลักษณ์แจ้งเตือนระดับน้ำครอบคลุมลำน้ำสำคัญ ทั้ง 5 จังหวัด กำหนดจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำและขนย้ายเข้าไปติดตั้งไว้ในพื้นที่เสี่ยงพร้อมทดลองเดินเครื่องเพื่อให้สามารถสูบน้ำช่วยเหลือได้ทันทีหากเกิดน้ำท่วมรวมถึงได้ตรวจสอบสภาพอาคารชลประทานทุกแห่งให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำแบบพลวัต (Dynamic Rule curve) สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากได้สั่งการให้พร่องน้ำโดยไม่ให้มีผลกระทบกับพื้นที่ท้ายอ่างพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แจ้งเตือนประชนและทุกภาคส่วนก่อนมีการพร่องระบายน้ำลงท้ายอ่างฯที่สำคัญได้นำเทคโนโลยีระบบการแจ้งเตือนภัยสถานการณ์น้ำโดยเครือข่ายของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะของสำนักงานชลประทานที่ 6 ทั้ง 5 จังหวัด มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ การประสานงาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนและการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มศักยภาพ
ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัดประจำอยู่ในพื้นที่และมอบหมายเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชม. พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำล่วงหน้า ให้ประชาชน ได้รับทราบอย่างทั่วถึงหากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้านทุกแห่งหรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา