“บิ๊กแจง” เปิดไซเบอร์คอป 3 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน

Social Share

“บิ๊กแจง” เปิดกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 ช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรทางไซเบอร์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เน้นสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน โดยเน้นแนวคิด “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน”

Social Share

11 พฤศจิกายน 2554 พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) เป็นประธานในพิธีเปิดที่ทำการ (ชั่วคราว) กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 อาคารเลขที่ 177/49 ม. 17 ถนนมิตรภาพ ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น พร้อมด้วย พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษณ์ รอง ผบช.สอท.  พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.มนเฑียร พันธ์อิ่ม รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.สุรพล เปรมบุตร ปรก.รอง ผบช.สอท. และผู้แทนของหน่วยงานต่าง ๆ  ใน จ.ขอนแก่น ร่วมมาเป็นเกียรติในพิธีเปิด โดยมี พล.ต.ต.ออมสินตรา รุ่งเรือง ผบก.สอท.3 เป็นผู้กล่าวรายงานผลการปฏิบัติงานและแนวทางในการทำงานในพื้นที่ภาคอีสาน

            พล.ต.ต.ออมสินตรา รุ่งเรือง ผบก.สอท.3 กล่าวว่า การเปิดที่ทำการฯ ในครั้งนี้สอดคล้องตามนโยบายของ รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ในการจัดตั้งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรม ในคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ การสนับสนุนข้อมูล ประสานความร่วมมือ กับตำรวจภูธรภาคในพื้นที่ ซึ่งดูแลรับผิดชอบพื้นที่เป็นหลัก และการให้บริการประชาชน ลดภาระการเดินทาง โดยกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 หรือสอท. 3 มีพื้นที่รับผิดชอบ 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการตั้งที่ทำการ (ชั่วคราว) กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ ให้ความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ บริการประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อหรือผู้เสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจน  ให้ความรู้ให้กับประชาชน และส่วนราชการอื่น ๆ เกี่ยวกับแนวโน้ม หรือสถานการณ์ที่น่าสนใจด้านเทคโนโลยีโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของอาชญากรไซเบอร์ที่นับวันได้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น

ด้าน พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. เปิดเผยว่า กล่าวว่า สำหรับ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 ได้เริ่มเปิดให้บริการประชาชน มาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 64 โดยเริ่มให้ พนักงานสอบสวนมาเข้าเวร คอยรับแจ้งเหตุหรือให้คำปรึกษาประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ยุคปัจจุบัน  โดยจะทำงานร่วมกันอย่างคู่ขนานกับสถานีตำรวจ ในการสนับสนุนข้อมูลทางการสืบสวนสอบสวนหรือวิเคราะห์สืบค้นให้รู้ตัวคนร้าย และรับผิดชอบคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่สำคัญ ๆ ซึ่งจะมีการประสานงานกับสถานีตำรวจท้องที่เกี่ยวกับคดีประเภทไหนอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด โดยการกระทำความผิดที่อยู่ในความรับผิดชอบของ บช. สอท. เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ , กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงบางฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น ฉ้อโกง หรือการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก และยังมีพ.ร.บ. อื่น ๆ อีกที่ความผิดโทษทางอาญา โดยการยึดหลักเกณฑ์ ตามคำสั่ง ตร.ที่ 287/2554 ลง 18 มิ.ย. 64 เรื่องการรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ และการสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่กำหนด เช่น คดีที่มีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 10 ล้านขึ้นไป และมีผู้เสียหายตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป หรือคดีที่มีมูลค่าความเสียหาย 30 ล้านขึ้นไป หรือมีผู้เสียหาย 50 คนขึ้นไป รวมทั้งการกระทำความผิดเป็นรูปขบวนการหรือกลุ่มบุคคล หรือมีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น ส่วนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วไป ทางสถานีตำรวจท้องที่สามารถดำเนินการให้บริการประชาชนได้ โดยสามารถร้องขอให้ บช.สอท. สนับสนุนช่วยเหลือข้อมูลการสืบสวนทางเทคโนโลยี เช่น การระบุที่อยู่หรือตัวผู้กระทำความผิด หรือข้อมูลการสืบสวน ซึ่งคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีส่วนใหญ่ที่พบมากที่สุดตอนนี้ คือฉ้อโกงซื้อของทางออนไลน์ แล้วก็เป็นความผิดประเภทอื่น ๆ เช่น หลอกให้กู้เงินทางออนไลน์, scam ต่าง ๆ ทั้ง romance Scam และ hybrid scam, หมิ่นประมาททางสื่อสังคมออนไลน์, หลอกกู้เงินทางออนไลน์, เผยแพร่ภาพลามกทางสื่อโซเชียล เป็นต้น

 ทั้งนี้ บช. สอท. ได้สนับสนุนข้อมูลให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผลการจับกุมความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ประเภทต่าง ๆ มาโดยตลอด เช่น หลอกขายของออนไลน์ ขายอาวุธปืนออนไลน์ เผยแพร่สื่อลามก การพนันออนไลน์ ฯลฯ และการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยการฉีดวัคซีน ภูมิคุ้มกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ ให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  ตามวิสัยทัศน์ของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่ว่า “เป็นองค์กรสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมไซเบอร์อย่างมืออาชีพที่ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา” และคำขวัญมุ่งมั่นของหน่วยงาน “CYBER COP ANTI CYBER”

            พล.ต.ท.กรไชย กล่าวอีกว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด จะเป็นความรับผิดชอบของกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 มีกำลังพลประมาณ 150 นาย พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่แล้วก็จะเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องการสร้างความตระหนักรู้ ให้กับประชาชน ซึ่งทุกวันนี้เราอยู่กับเทคโนโลยีทุกวัน เราถือมือถือ เรามีมือถือ เราเข้าอินเตอร์เน็ตได้ เราเข้า Google ได้ เราเข้าไปท่องในโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นโลกที่ทำให้รับรู้ได้อย่างเปิดกว้างและทันสมัย แต่ความทันสมัยก็เป็นความอันตราย ซึ่งอาจจะถูกหลอกเข้าไปในอาชญากรรม เช่น การลงทุน หรือ ที่ได้ยินกันเป็นประจำ คือ การกู้ยืมเงิน การพนันออนไลน์และการเข้าไปเล่นเกมต่าง ๆ ซึ่งทำให้เด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน ยุวชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราต้องการความร่วมกับสถาบันครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันหลัก ในการที่จะสร้างให้สังคมนี้น่าอยู่

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านจอ LED ตามหมู่บ้าน  อบต, อบจ. มีความร่วมมือในภาคของฝ่ายปกครองที่จะกระทำการใช้คำว่า Shot Messenger หรือว่าเป็นการสร้างวิดีโอสั้น ๆ เพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมาตามแยกต่าง ๆ เช่น คำว่า คลิกก่อนคลิก เช็คก่อนโอน หรือ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน คือ ไม่เชื่อก่อน อย่ารีบ แล้วเมื่อท่านไม่โอน ท่านก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม อาชญากรรมประเภทนี้ ต้องการอย่างเดียวคือ ต้องการเงิน ไม่ได้ต้องการอะไรเลย แต่ต้องการให้เราเป็นเหยื่อ

About Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *