ชป.6 ขานรับนโยบายอธิบดีกรมชลฯ นำร่องโครงการต้นแบบการใช้ประโยชน์สูงสุดจากน้ำท่วมค้างทุ่งมาใช้ทำนา

Social Share

ชาวนามหาสารคาม นำร่องโครงการต้นแบบการใช้ประโยชน์สูงสุดจากน้ำท่วมค้างทุ่ง โดยการใช้น้ำที่เหลือจากการท่วมขังในฤดูน้ำหลากมาใช้ในการเตรียมแปลงสำหรับการเพาะปลูกข้าว ตามนโยบายของนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ช่วยชาวนาประหยัดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำเตรียมแปลงและเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุด

Social Share

 นายเกียรติศักดิ์  หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า เมื่อฤดูฝนปี 2564 ที่ผ่านมาได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 2 ฝั่งลำน้ำชีในเขตสำนักงานชลประทานที่ 6 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน จึงมีนโยบายให้โครงการชลประทานส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากน้ำท่วมที่เหลือค้างทุ่งมาใช้ในการเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าว โดยให้เกษตรกรที่มีพื้นที่แปลงนาที่ถูกน้ำท่วมขังเริ่มไถนาและหว่านข้าวในแปลงที่อยู่ระดับสูงกว่าก่อน แล้วปล่อยน้ำที่ท่วมขังอยู่นั้นลงไปให้แปลงที่อยู่ต่ำกว่าจากนั้นไล่น้ำลดหลั่งกันลงไป เมื่อเกษตรกรใช้น้ำค้างทุ่งจนหมดแล้วจึงใช้น้ำที่ส่งจากระบบชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำค้างทุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโดยเปล่าประโยชน์ และเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ลดต้นทุนในการไถเตรียมแปลงโดยการไถพรวนเพียงครั้งเดียว รวมถึงเป็นต้นแบบเพื่อให้เกษตรกรที่ประสบอุทกภัยได้ศึกษาเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง

สำหรับพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลางได้นำร่องพื้นที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเขื่อนวังยาง ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำชีจำนวน 923 ไร่ เป็นพื้นที่ต้นแบบในการใช้ประโยชน์จากน้ำท่วมค้างทุ่ง ซึ่งโดยปกติในการทำนาข้าวจะใช้น้ำประมาณ 1,500 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ การใช้น้ำท่วมที่ค้างอยู่ในทุ่งมาไถเตรียมแปลงจะช่วยให้สามารถลดปริมาณการใช้น้ำลงได้ประมาณไร่ละ 400 ลบ.ม. ส่งผลให้เขื่อนวังยางสามารถประหยัดน้ำจากการทำนาในฤดูนี้ได้ประมาณ 369,200 ลบ.ม.

 ด้าน นายสมบัติ อามาตย์มนตรี เกษตรกรบ้านกุดเวียน ต.ท่าตูม อ.เมืองมหาสารคาม กล่าวว่า พื้นที่นากว่า 30 ไร่ของตนได้ถูกน้ำท่วมขังเมื่อช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา นาข้าวได้รับความเสียหาย หลังน้ำลดเจ้าหน้าที่ชลประทานได้เข้ามาแนะนำการทำนาโดยการนำน้ำที่ค้างในทุ่งมาใช้ก่อนที่น้ำจะไหลลงแม่น้ำ ทำให้สามารถลดค่าไฟฟ้าสูบน้ำและราคาค่าจ้างไถก็ถูกลงเพราะจ้างไถพรวนดินแค่รอบเดียวก็หว่านข้าวได้ นอกจากนี้ยังประหยัดค่าปุ๋ยเพราะดินชุ่มชื่นอุดมสมบูรณ์ น่าจะช่วยลดต้นทุนการทำนาได้มากพอสมควร จากนี้ตนก็จะแนะนำให้เกษตรกรคนอื่นๆได้นำเอาไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ด้วย

About Author