กมธ.แก้ปัญหายากจน ชูศูนย์นวัตรกรรมในหลวง ร.9 แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง

Social Share

คณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ร่วมกับกรมชลประทาน เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชการที่ 9 โดยได้เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมแห่งศาสตร์พระราชา เพื่อน้อมนำรูปแบบการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง ไปปรับใช้ในพื้นที่ต่างๆ ที่ประสบภัย

Social Share

      วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมคณะ ได้เดินทางติดตามความคืบหน้าและผลงานการแก้ไขปัญหาอุทกภัย และภัยแล้ง รูปแบบต่างๆ บริเวณสถานที่จัดแสดงนวัตกรรมแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำ ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ภายในโครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้ร่วมกับทางกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดแสดงไว้เพื่อบูรณาการร่วมกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและประชาชน ด้วยการน้อมนำแนวทางพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชการที่ 9 และศาสตร์พระราชาด้านการจัดการและการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า มาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเครื่องมือต่างๆ สำหรับนำไปปรับใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดจาก น้ำท่วม ภัยแล้ง จนประสบความสำเร็จมาแล้วหลายพื้นที่ ผ่านโมเดลจำลองที่มีการจัดแสดง อาทิ ฝายชะลอน้ำชั่วคราวแกนดินซีเมนต์ต้นทุนต่ำ สำหรับเก็บกักน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน นวัตกรรมการใช้บาดาลน้ำตื้นและโซล่าเซลแสงอาทิตย์เพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรกรรม ที่สามารถลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ร่องดินเติมน้ำเพื่อสร้างระบบแก้มลิงใต้พื้นดิน นวัตกรรมสำหรับปิดช่องพนังกั้นน้ำขาดเนื่องจากถูกน้ำกัดเซาะ ไข่ไดโนเสาร์สำหรับเร่งให้น้ำซึมลงสู่ใต้ดินอย่างรวดเร็วในพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งเบื้องหลังแห่งความสำเร็จต่างๆนั้น อยู่ภายในห้องถวายอาลัย ที่ได้สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานแก่เจ้าหน้าที่จิตอาสาและประชาชนทั่วไปที่มีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชม

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา กล่าวว่า ปัญหาความยากจนของประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ คือปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรกรรม เนื่องจากพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่นั้นเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่ชาวบ้านต้องรอน้ำฝนสำหรับใช้หล่อเลี้ยงพืชเกษตรและส่วนใหญ่ก็จะเป็นการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ทำการเกษตรได้ครั้งเดียวในรอบ 1 ปี ซึ่งหากปีใดฝนตกน้อยน้ำก็จะไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงพืชเกษตรที่ปลูก ทำให้เกิดความเสียหายเพราะพืชขาดน้ำ ปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้สินก็จะยังคงอยู่กับชาวบ้านตลอดไป คณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้เล็งเห็นจุดเริ่มต้นของปัญหาและแนวทางแก้ไขในภาพรวม จึงได้ร่วมกับทางกรมชลประทาน น้อมนำแนวทางพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสืบสานต่อยอดในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 จัดแสดงนวัตกรรมที่เป็นทั้งเครื่องมือและภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำท่วม ภัยแล้งขึ้น เพื่อให้ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนทั่วไปได้เข้าศึกษาเรียนรู้ และนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง ซึ่งก็ได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นเป็นลำดับ

     รศ.ดร.สังศิต กล่าวอีกว่า ตนอยากให้มีการจัดแสดงนวัตกรรมลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย เพื่อที่จะเป็นห้องสมุด เป็นเข็มทิศ ให้กับประชาชนที่ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติเมื่อใด แต่หากประชาชนได้นำรูปแบบองค์ความรู้แบบนี้ไปปรับใช้ อย่างน้อยก็จะทำให้ชาวบ้านสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้

ข่าว ทิยาพร แก้ววงค์ – ไอลดา เจริญถิ่น

ภาพ ภูมินทร์ พินิจ – ณัชภัทร ลาภทิพย์

About Author