ทุ่งชมภูโมเดล รูปแบบการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก

Social Share

(วันที่ 5 ธ.ค.64 เวลา 10.00 น.) คณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ติดตามความสำเร็จด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ส่งผลให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี เนื่องจากมีน้ำสำหรับใช้อุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรกรรมได้ตลอดทั้งปี จนนำไปสู่การเป็นพื้นที่การเกษตรกรรม ทุ่งชมภูโมเดล

Social Share

รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์สังศิต  พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมคณะ ได้เดินทางพบปะประชาชนในพื้นที่ตำบลทุ่งชมภู อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น พร้อมเยี่ยมชมกิจกรรมการผลิตพืชเกษตรมูลค่าสูง การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การประมงและปศุสัตว์ ซึ่งเป็นความสำเร็จด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชน ที่ทางคณะกรรมธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน โดยได้ร่วมกับทางกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น้อมนำแนวทางพระราชดำริและศาสตร์พระราชาด้านการจัดการและการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า มาถ่ายทอดให้กับประชาชนผ่านนวัตกรรมแก้ไขปัญหาเรื่องของการขาดแคลนน้ำ

โดยเริ่มจากการนำชาวบ้านจัดสร้างฝายชะลอน้ำชั่วคราวแกนดินซีเมนต์ในลำห้วย การเจาะบาดาลน้ำตื้นความลึกไม่เกิน 50 เมตร มาใช้ร่วมกับชุดพลังงานสูบน้ำโซล่าเซลแสงอาทิตย์ ชุดหอถังสำหรับกระจายน้ำลงสู่แปลงพืชเกษตรน้ำหยด จนสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับชาวบ้านได้เป็นผลสำเร็จ มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรกรรมได้ตลอดทั้ง 12 เดือน หรือ 1 ปี โดยไม่ต้องรอคอยแต่น้ำฝน ส่งผลให้ชาวบ้านมีความมั่นคงจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ซึ่งตัวชี้วัดที่ดีของรูปแบบการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กในลักษณะนี้ คือการเพิ่มขึ้นของนวัตกรรมที่จากจุดเริ่มต้นในการเริ่มถ่ายทอดแนวทางการบริหารจัดการน้ำนั้นจะมีชุดสูบน้ำพลังงานโซล่าเซลจากแสงอาทิตย์จำนวน 60 ชุด แต่ปัจจุบันชาวบ้านได้ใช้รูปแบบบาดาลน้ำตื้นและชุดพลังงานโซลาเซลแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นมากกว่า 500 ชุด กระจายอยู่ในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน สอดคล้องกับแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชการที่ 9 เรื่องของการระเบิดจากข้างใน คือการเกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และถือเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงมาตรฐานการครองชีพของประชาชน ที่จะมีความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนสืบไป

About Author