ขอนแก่น-สัมมนาวิชาการ การสร้างชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

Social Share

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ประชุมสัมมนาวิชาการ การสร้างชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล)

Social Share

วันที่ 15 พ.ย. 2564 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ขอนแก่น (kice) ศาสตราจารย์พิเศษ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้วิดีโอ คอนเฟอเรนท์ เปิดงานประชุมโครงการสัมมนาวิชาการ การสร้างชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability for all) พร้อมกล่าวว่า โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของมหาวิทยาลัย ไปช่วยในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ผ่านการจ้างงาน ซึ่งนอกจากเป็นการแก้ปัญหาการว่างงานและสร้างรายได้แก่คนในพื้นที่แล้ว ผู้ที่ได้รับการจ้างงานยังได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาตนเอง ดึงศักยภาพของตนเองออกมา เพราะผู้ถูกจ้างงานจะเข้าใจสภาพปัญหาของพื้นที่บ้านเกิด ตลอดจนมองเห็นทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนหรือทรัพย์สินที่สามารถสร้างรายได้หรือประกอบธุรกิจ  รวมทั้งทำให้ตระหนักได้ว่าองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยหรือภูมิปัญญาชาวบ้านต่าง ๆ ก็สามารถทำประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านเกิดและพร้อมที่จะพัฒนาสู่การเป็นตำบลที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น จักได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนโครงการ U2T เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของชุมชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นหน่วยบูรณาการโครงการ (System Integrator) การจ้างงาน การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่มีความครอบคลุมในประเด็นต่าง ๆ ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน และการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data) การบริหารโครงการ ประกอบด้วย  การจ้างงาน 20 อัตรา/ตำบล และการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตามศักยภาพและความต้องการของพื้นที่ โดยดำเนินการใน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่  1) ด้านการพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพ 2) การสร้างและพัฒนา Creative Economy 3) การส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม/Circular Economy และ 4) การนำองค์ความรู้ไปบริการชุมชน รวมทั้งกิจกรรมฝึกอบรมพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคตให้แก่ผู้ได้รับการจ้างงานภายใต้โครงการนี้ กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 11 เดือน (กุมภาพันธ์ – ธันวาคม 2564)

มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับผิดชอบจำนวน 135 ตำบล ใน 13 จังหวัด และเป็นแม่ข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงานของเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคอีสานตอนบน ดำเนินงานโครงการในพื้นที่ รวม 395 ตำบล เกิดการจ้างงงานคนในพื้นที่ ตำบลละ 20 คน รวมจำนวน 7,900 คน แบ่งเป็นประเภท นักศึกษา จำนวน 1,975 คน บัณฑิตจบใหม่ จำนวน 3,950 คน และประชาชน จำนวน 1,975 คน ในการดำเนินงานดังกล่าว  ได้เกิดการดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณาการจากหลายหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ สถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 9 แห่ง รวม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และส่วนงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย  ซึ่งมีการดำเนินงานโครงการมาแล้ว 10 เดือน จนถึงปัจจุบัน 

เพื่อเป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ ฯ ในระยะที่ผ่านมา รวมทั้งการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะแม่ข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคอีสานตอนบน จึงกำหนดจัดการประชุมสัมมนาวิชาการ “การสร้างชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability for all) : การถอดบทเรียน University to Tambon (U2T) สู่ความยั่งยืน ในวันที่ 15 – 17 พฤศจิกายน 2564 โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการนำผลงานมาจัดแสดงนิทรรศการผลงาน ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรม ที่เกิดจากการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย รวมจำนวน 152 นิทรรศการ และเพื่อเพิ่มโอกาสในการต่อยอดทางการตลาดและ ขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการผลิตและบริการ นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ผู้จัดงานได้เชิญหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมจัดนิทรรศการเพื่อให้ความรู้ ให้คำแนะ รวมทั้งการเจรจาธุรกิจ อาทิ กลุ่มธนาคาร BOI และจุดบริการสำหรับเจรจาธุรกิจ เป็นต้น สำหรับด้านเวทีวิชาการก็ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมากด้วยประสบการณ์ด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ ร่วมในการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดระยะเวลาทั้งสามวันนี้ ซึ่งกระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานในช่วงสามวันนี้ จะเป็นเวทีในการต่อยอดนำไปสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่น รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประชุมสัมมนาวิชาการ การสร้างชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน [Sustainability for all] : การถอดสรุปบทเรียน University to Tambon [U2T] สู่ความยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้จัดงานครั้งนี้ขึ้นมาขอบคุณโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล ที่ได้เข้าไปแก้ไขปัญหาฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน ทั้งการสร้างงาน การพัฒนาอาชีพในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดการบูรณาการโครงการในพื้นที่ร่วมกับกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง 

จังหวัดขอนแก่น ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก ซึ่งโครงการจ้างงาน มหาวิทยาลัยสู่ตำบล จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งเสริมให้ภาคเกษตรในชุมชนได้ฟื้นฟูและเติบโตได้ เพิ่มโอกาสสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นตัวอย่างในการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน

ข่าว นายณัชภัทร ลาภทิพย์ – นางสาวทิยาพร แก้ววงค์

ภาพ นายภูมินทร์ พินิจ – นางสาวไอลดา เจริญถิ่น

About Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *