ชป.ขอนแก่น เร่งระบายน้ำในแม่น้ำชีลดผลกระทบน้ำท่วม

Social Share

ชลประทานขอนแก่น เร่งระบายน้ำในแม่น้ำชีลดผลกระทบน้ำท่วมหลังฝนตกสะสมต่อเนื่อง

Social Share

นายยุทธนา  กองถวิล  ผู้อำนวยการโครงการชลประทานขอนแก่น เปิดเผยว่า อิทธิพลจากพายุโซนร้อน   มู่หลานประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ส่งผลให้มีฝนตกหนักช่วงวันที่ 16-17 ส.ค. 65 ในหลายพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่น ปริมาณน้ำฝนสะสมจำนวนมากเอ่อล้นเข้าท่วมถนนและพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะที่ อ.บ้านไผ่ และ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น นายเกียรติศักดิ์  หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 จึงสั่งการให้โครงการชลประทานขอนแก่น เร่งระบายน้ำในแม่น้ำชี และดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำและรับมือน้ำหลากในช่วงฤดูฝนปี 2565 โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกิดอุทกภัย

 สำหรับพื้นที่เทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมขังรอการระบายในช่วงที่มีฝนตกหนัก สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้นำเครื่องสูบน้ำเข้าไปติดตั้งไว้ประจำจุดเสี่ยงแล้วจำนวน 6 จุด เพื่อเร่งระบายน้ำในเขตเทศบาลนครขอนแก่นให้ไหลไปลงประตูระบายน้ำ D8 (ห้วยพระคือ) พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ประตูระบายน้ำ D8 จำนวน 3 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำในเขตเทศบาลนครขอนแก่นลงแม่น้ำพอง ก่อนไหลลงแม่น้ำชี นอกจากนี้ ยังได้นำเครื่องจักรเครื่องมือเข้าดำเนินการจำกัดวัชพืชที่ไหลมากับน้ำ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยเตยและเขื่อนระบายในแม่น้ำชี รวมไปถึงการตรวจสอบสภาพอาคารชลประทานและพนังกั้นลำน้ำชี พนังกั้นลำน้ำพอง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการของนายประพิศ จันทร์มา  อธิบดีกรมชลประทาน ที่ได้เน้นย้ำให้ตรวจสอบสภาพความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทาน พนังกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

นายยุทธนาฯ กล่าวอีกว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีปัจจุบันมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่ลดลง ระดับน้ำ   ยังต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 2-3 เมตร ยังมีช่องว่างมากพอที่จะรองรับปริมาณน้ำที่ไหลมาจากจังหวัดชัยภูมิ และน้ำที่ท่วมขังอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำอ.บ้านไผ่ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ซึ่งจะไหลลงแม่น้ำชีจนสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติภายใน 3-5 วันนี้ ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้บริหารจัดการน้ำในแม่น้ำชี โดยยกบานระบายน้ำทุกบานที่เขื่อนชนบท และเขื่อนมหาสารคาม พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 15 เครื่องที่เขื่อนมหาสารคาม และมีแผนที่จะติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่เขื่อนวังยาง เพื่อผลักดันน้ำในแม่น้ำชีให้ไหลได้สะดวกยิ่งขึ้น  

ทั้งนี้ โครงการชลประทานขอนแก่น ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เตรียมความพร้อมไว้อย่างดี เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือและกำลังคน ที่พร้อมจะเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีหากเกิดอุทกภัย

About Author